สมองของเราเปรียบเสมือนกัปตัน มีหน้าที่สั่งการระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายให้ทำงานตามปกติ ผู้คนจึงดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นถ้าสมองมีความสมบูรณ์ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ สมองซึ่งเคยแข็งแรงจะมีสุขภาพแย่ลงเรื่อย ๆ ส่งผลต่อความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ มีอาการหลงลืม จำบุคคลที่เคยรู้จักไม่ได้ หรือบางครั้งมีพฤติกรรมก้าวร้าว ด่าทอโดยไม่มีเหตุผล

ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer’s Association International Conference (AAIC) ปี ค.ศ. 2021 ที่เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา Emma Nichols นักวิจัยและทีมงานจากสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Institute for Health Metrics and Evaluation at the University of Washington School of Medicine) ได้รายงานตัวเลขประมาณการแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อมทั่วโลก ซึ่งพบว่า ในปี 2019 (2562) ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจำนวน 57.4 ล้านคน และน่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 เท่า หรือประมาณ 152.8 ล้านคน ในปี 2050 (2593) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและผู้สูงอายุในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศในแถบเอเชีย ปัจจัยเด่นที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นมาจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีมากกว่าการเติบโตของประชากร โดยการศึกษาชิ้นนี้มีการประมาณการตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยด้วยว่า จะเพิ่มขึ้นจาก 670,047 คน ในปี 2019 เป็น 2,391,672 คน ในปี 2050 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 3.56 เท่า (Nichols et al., 2022)

การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่แต่ละประเทศต้องแบกรับมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ดังนั้นนอกจากผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมอีกด้วย

ต้นทุนทางตรง (direct cost) หลัก ๆ ของผู้ป่วยและครอบครัวคือ ค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ยารักษาโรค และอุปกรณ์ช่วยเหลือเฉพาะทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การบริการชุมชนและสังคม (เช่น การช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ หรือ คนในชุมชนคนอื่น ๆ) การเข้ามารักษาและดูแลผู้ป่วยที่บ้านของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บ้านพักพิเศษ (เช่น บ้านพักคนชรา) การสูญเสียรายได้ของผู้ป่วย การสนับสนุนด้านสวัสดิการ และค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นต้น ส่วนต้นทุนทางอ้อม (Indirect cost) ที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ การเสียผลิตภาพ (productivity) จากการบกพร่องในการทำงาน การลาป่วย การเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือการเสียชีวิต ในส่วนของผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือผู้ใกล้ชิด อาจต้องสูญเสียผลิตภาพในการงานของตัวเอง จนอาจส่งผลต่อตำแหน่งหรือหน้าที่การงานในอนาคตได้ อีกทั้งอาจมีอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน และมีเวลาให้ตัวเองน้อยลง เพราะต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (El-Hayek et al., 2019)

นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนที่เรามองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ แต่ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และผู้ดูแล คือ การเสื่อมถอยของคุณภาพชีวิตทางสังคม จิตใจ และร่างกาย (Quality of Life) (เช่น ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทางร่างกาย ผลกระทบต่อกิจกรรมครอบครัว การใช้เวลาร่วมกันกับคนในครอบครัวหรือสังคม หรือผลกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวและครอบครัว) นอกจากนี้ ผู้ดูแลอาจพบกับปัญหาสุขภาพหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเครียดในการดูแลผู้ป่วย เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด หรือภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากความเครียดในการดูแลผู้ป่วย และการสูญเสียความเชื่อมโยงกับบุคคลอันเป็นที่รักจากโรคอัลไซเมอร์ (El-Hayek et al., 2019)

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้มีวิธีดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การมุ่งเน้นที่การป้องกันในระยะเริ่มต้น โดยการตรวจคัดกรองโรคให้เจอในระยะแรก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดจากอาการป่วยไม่หนักหนาสาหัสมากนัก ทั้งสำหรับตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด และบางประเทศ เช่น ประเทศเดนมาร์ก ได้วางเรื่องภาวะสมองเสื่อมไว้เป็นวาระสำคัญแห่งชาติ และได้จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติปี 2025 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีสภาวะสมองเสื่อมอย่างครอบคลุม โดยภายใต้แผนปฏิบัติการนี้ เดนมาร์กจะพัฒนาให้ประเทศมีสังคมที่ ‘เป็นมิตรกับภาวะสมองเสื่อม’ ที่ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีอยู่ชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยและภาคภูมิใจ มากไปกว่านั้น ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนญาติ คนในครอบครัว หรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เพื่อช่วยรับมือเรื่องการดูแลรักษาผู้ป่วยและความโศกเศร้าที่เขาเหล่านั้นต้องเผชิญจากความสูญเสียการเชื่อมต่อกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รัก หรือจากปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ต้องเผชิญจากการเข้ามาดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วย (Sarantis Michalopoulos, 2016)

ประเทศไทยเองก็สามารถส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน โดยในปัจจุบันภาครัฐมีส่วนสนับสนุนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์ อาทิ การสนับสนุนให้บริษัทต่าง ๆ จัดเวลาให้พนักงานออกกำลังกาย หรือมีชั่วโมงออกกำลังกายในที่ทำงาน (กรมอนามัย, n.d.) การมีศูนย์กิจกรรมให้ผู้สูงอายุ และมีนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น และด้วยแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วโลกและในประเทศไทย ภาครัฐอาจจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณให้แก่นโยบายและสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ให้มากยิ่งขึ้น หรือมีนโยบายใหม่ ๆ อาทิ มีโปรแกรมการตรวจและประเมินโรคอัลไซเมอร์เบื้องต้นในแพ็คเกจตรวจสุขภาพฟรีซึ่งครอบคลุมหลายโรค และควรให้มีการตรวจทุกปี การเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ที่จะมาพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นาน

สำหรับการดูแลตัวเองนั้น เราสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์เองได้ (นอกเหนือจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ อายุ พันธุกรรม การกลายพันธุ์ของยีน เพศ และอื่นๆ) โดยการเลือกดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและสมอง ด้วยการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารให้เพียงพอและตรงเวลา ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงทำกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดอย่างสม่ำเสมอ โดยจากสถิติแล้ว การสูบบุหรี่ ทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้นกว่า 59% ส่วนการออกกำลังกายไม่สม่ำเสมอจะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้นกว่า 82% นอกจากนี้ยังควรป้องกันปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสมองและหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองด้วย มากไปกว่านั้นยังควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคที่ถ้าเป็นแล้วจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคเบาหวาน (พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงขึ้น 39% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน) โรคความดันโลหิตสูง (พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 61%) โรคอ้วน (พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 60%) หรือภาวะซึมเศร้า (พบว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า 90%) (แพทย์หญิง จิตรลดา สมาจาร, 2564)

สำหรับประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มที่จำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะเพิ่มมากขึ้นนั้น นอกเหนือจากการวางแผนรับมือด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจจากโรคอัลไซเมอร์แล้ว เราอาจต้องหาวิธีรับมือและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมอย่างยั่งยืนด้วย เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรคอัลไซเมอร์มีความซับซ้อน ดังนั้น ทุกคนและหน่วยงานต่าง ๆ ในทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันแก้ปัญหาและพัฒนาวิธีการรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยรวมให้อยู่ร่วมกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ดียิ่งขึ้น จึงจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2565). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2563. https://opendata.nesdc.go.th/dataset/situation-of-the-thai-elderly-2020

กรมอนามัย, ส. (n.d.). โครงการตำรา การสร้างเสริมสุขภาพคนทำงานในสถานประกอบการ. http://advisor.anamai.moph.go.th/main.php?filename=factory2

บำรุงราษฎร์. (2561). เข้าใจอัลไซเมอร์ เมื่อสมองเสื่อมไม่ใช่แค่เรื่องความจำ. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2018/alzheimer-disease

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ. (2563). เทียบมาตรการดูแลผู้สูงวัยในภาวะสมองเสื่อม ไทยต่างประเทศ. https://thaitgri.org/?p=38989

แพทย์หญิง จิตรลดา สมาจาร. (2564). ลืมง่าย จำยาก เสี่ยงอัลไซเมอร์. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/alzheimer-dementia

El-Hayek, Y. H., Wiley, R. E., Khoury, C. P., Daya, R. P., Ballard, C., Evans, A. R., Karran, M., Molinuevo, J. L., Norton, M., & Atri, A. (2019). Tip of the Iceberg: Assessing the Global Socioeconomic Costs of Alzheimer’s Disease and Related Dementias and Strategic Implications for Stakeholders. Journal of Alzheimer’s Disease, 70(2), 321–339. https://doi.org/10.3233/JAD-190426

RYT9. (2564). ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในปี 2593. https://www.ryt9.com/s/anpi/3242832

National Action Plan on Dementia 2025. (2017). A Safe And Dignified Life With Dementia. https://www.alzheimer-europe.org/sites/default/files/2021-10/Denmark%20National%20Action%20Plan%202025%20-%20English%20Summary.pdf

Nichols, E., Steinmetz, J. D., Vollset, S. E., Fukutaki, K., Chalek, J., Abd-Allah, F., Abdoli, A., Abualhasan, A., Abu-Gharbieh, E., Akram, T. T., Al Hamad, H., Alahdab, F., Alanezi, F. M., Alipour, V., Almustanyir, S., Amu, H., Ansari, I., Arabloo, J., Ashraf, T., … Vos, T. (2022). Estimation of the global prevalence of dementia in 2019 and forecasted prevalence in 2050: an analysis for the Global Burden of Disease Study 2019. The Lancet Public Health, 7(2), e105–e125. https://doi.org/10.1016/S2468-2667(21)00249-8

Sarantis Michalopoulos. (2016). Denmark aims to become ‘dementia-friendly nation’ by 2025. https://www.euractiv.com/section/health-consumers/news/loehde-denmark-must-become-a-dementia-friendly-nation-by-2025/