solaris_day02_news_featured

(ที่มา: http://www.eco-business.com/news/sgbc-launches-sustainable-lighting-green-certification-initiatives/)

รู้จักอาคารสีเขียวไหมครับ? อาคารสีเขียวเป็นแนวคิดที่แพร่หลายและได้รับการพัฒนาอย่างมากในทวีปยุโรปและอเมริกา แต่เพิ่งจะเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ว่าอาคารสีเขียวคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมของเรา?

อาคารสีเขียวคืออะไร?

อาคารสีเขียว (Green building) คือ อาคารที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารด้วย เพราะเป้าหมายหลักของเเนวคิดนี้คือการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ (built environment) ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน (human health) และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (natural environment) ฉะนั้นอาคารสีเขียวจึงมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้:

  1. ประสิทธิภาพของการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
  2. ปกป้องสุขภาพและส่งเสริมความสามารถในการทำงานของผู้คนในอาคาร
  3. ลดปัญหาขยะ มลพิษ และการทำลายสิ่งแวดล้อม

ทำไมอาคารต้องเป็น สีเขียว’? 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความรู้เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการก่อสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ยิ่งเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเจริญมากเท่าใด จำนวนสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างของมนุษย์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลของ United Nations ระบุว่า ในปี 2011 โลกมีประชากร 7 พันล้านคน โดย 3.6 พันล้านคนเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งมีสัดส่วนสอดคล้องกับเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่พัฒนาไปเป็นสังคมเมือง (urbanization) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยในช่วงปี 2010-2015 อัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.97 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ในอนาคตจำนวนอาคารก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นตึกสูง ตึกแถว และบ้านเรือนจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ (จากที่มากอยู่แล้ว) ผลกระทบจากอาคารต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมก็จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น

โดยผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 7 ด้านดังนี้

  • ด้านทรัพยากรพลังงาน  เนื่องจากตึกหรืออาคารส่วนใหญ่มีการเผาผลาญทรัพยากรพลังงานไปกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ การระบายอากาศ การสูบน้ำ หลอดไฟทั้งในและนอกอาคาร ลิฟต์ และอื่นๆ
  • ด้านทรัพยากรน้ำ  ในที่นี้หมายถึงปริมาณน้ำที่ถูกใช้ทั้งในการบริโภค ทำความสะอาด รดน้ำต้นไม้ในสวนรอบๆ บริเวณพื้นที่อาคาร
  • ด้านสภาพอากาศในพื้นที่และชั้นบรรยากาศ  ตึกอาคารต่างๆ มีส่วนในการเพิ่มอุณหภูมิของพื้นที่รอบข้าง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า urban heat island นอกจากนี้การใช้ทรัพยากรพลังงานเกือบตลอดทั้งวันยังส่งผลให้อาคารปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในปริมาณมาก
  • ด้านการใช้พื้นที่ หากก่อสร้างอาคารบนพื้นที่สีเขียวก็จะต้องมีการตัดไม้ทำลายป่า หรือรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ นอกจากนี้การก่อสร้างยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขยะมลพิษจากกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงมลพิษทางเสียง นอกจากนี้แสงไฟจากตึก อาคารเอง ก็ยังรบกวนชุมชนรอบข้างในตอนกลางคืน
  • ด้านสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร  หลายคนอาจมองว่ามลพิษข้างนอกบ้านนั้นอันตราย โดยไม่รู้ว่ามลพิษภายในอาคารก็อันตรายเหมือนกัน มลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดอันนึงคือ ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไป ทุกหนแห่ง ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ ของมนุษย์  ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อให้เกิด โรคมะเร็งปอดในมนุษย์ สามารถพบได้ทั่วไปในดินหินตามธรรมชาติ เมื่อมนุษย์นำดิน หิน หรือทราย ที่มีแร่เรเดียมเจือปนมาก่อสร้างอาคาร วัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมาตามปริมาณเรเดียมที่ปะปนอยู่ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ แร่ใยหิน (asbestos) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มักพบในวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน หากไม่มีการระบายอากาศที่ดี แร่ใยหินก็จะเป็นอันตรายต่อปอดของมนุษย์ได้ถ้าสูดดมเข้าไป ทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดหรือโรคปอดอักเสบ นอกจากนี้กิจกรรมของมนุษย์เองก็สร้างมลพิษได้เหมือนกัน เช่น บุหรี่ ยาฆ่าแมลง สเปรย์ต่างๆ เป็นต้น
  • ด้านวัตถุดิบก่อสร้างและขยะ ยิ่งมีการก่อสร้างมากขึ้น วัตถุดิบธรรมชาติที่นำมาแปรรูปเพื่อใช้ก่อสร้าง ซ่อมแซม และบำรุงก็ต้องถูกเผาผลาญมากขึ้น แร่หิน น้ำ น้ำมัน พลังงานต่างๆ ที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง ก็จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับขยะจากขั้นตอนเหล่านั้น

จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างของมนุษย์เป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ แนวคิดอาคารสีเขียวจึงมีความสำคัญมากขึ้นในการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้

Impact from buldings

(ข้อมูลแสดงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มาจากอาคารทั่วโลก  ที่มา: http://www.woodsolutions.com.au/dotAsset/7430828c-2597-4c75-8142-bb14b8548d70.jpg)

มาตรฐานในการประเมินอาคารสีเขียว

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาคารใดมีคุณสมบัติดีพอที่จะเรียกได้ว่ามีความ ‘เขียว’?  มีอะไรเป็นตัววัด?​

ปัจจุบันมาตรฐานที่ว่าด้วยเรื่องของอาคารสีเขียวมีมากกว่าหนึ่งมาตรฐาน ตามแต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของชาตินั้นๆ จะเป็นคนกำหนด โดยมาตรฐานที่ได้รับการยอบรับอย่างแพร่หลายและถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานอ้างอิงในการพัฒนามาตรฐานรุ่นใหม่คือ มาตรฐานอาคารสีเขียวของสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (US Green Building Council) หรือที่เรียกกันว่า มาตรฐานแบบประเมินอาคาร LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) อีกมาตรฐานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายเช่นกันก็คือ มาตรฐานของประเทศอังกฤษที่เรียกว่า BREEAM (Building Research Establishment’s Environmental Assessment Method) สำหรับบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะขอลงรายละเอียดของมาตรฐาน LEED ซึ่งมีการใช้งานมานานและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย

LEED & BREEM(รูปซ้าย, ที่มา: http://www.englertinc.com/images/stories/leed.jpg )

(รูปขวา, ที่มา: http://ffr-ski.ru/upload/images/0090/08939.jpg)

การประเมินของ LEED มีความละเอียดและหลากหลาย โดยมีการแบ่งรูปแบบมาตรฐานการประเมินตามแต่ละด้านหรือส่วนของอาคาร เช่น ด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร (building design and construction) ด้านการออกแบบและการก่อสร้างภายใน (interior design and construction)  ด้านการบริหารจัดการอาคารเดิม (building operations and maintenance) ด้านการพัฒนาวางผังชุมชน (neighborhood development) ด้านอาคารบ้านและอาคารพักอาศัยรวม (homes) เป็นต้น โดยในแต่ละด้านยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีกด้วย เพื่อให้สามารถประเมินลักษณะเฉพาะของอาคารแต่ละประเภทได้อย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น ด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร จะแบ่งออกเป็นการสร้างอาคารใหม่ หรือการปรับปรุงใหญ่ ด้านการพัฒนาระบบภายในอาคาร ด้านโรงเรียน  ด้านอาคารธุรกิจปลีก ด้านโกดังสินค้า ด้านสถานบริการ ด้านอาคารศูนย์ข้อมูล และด้านโรงพยาบาล

ส่วนการประเมินจะมีเนื้อหาเหมือนกัน คือ แบ่งออกเป็น 7 หมวดหลัก

  1. สถานที่ตั้งโครงการเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Site)
  2. การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency)
  3. พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
  4. วัสดุและทรัพยากร (Material and Resources)
  5. คุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
  6. นวัตกรรมในการออกแบบ(Innovation in Design)
  7. ความสำคัญเร่งด่วนของภูมิภาค (Regional priority)

(หมายเหตุ: ข้อมูลจากมาตรฐานฉบับ ค.ศ. 2009)

 

LEED category

(ที่มา:http://www.southface.org/green-building-services/programs/about-leed-for-homes)

นอกจากนี้ LEED ยังมีการแบ่งเกณฑ์ระดับการรับรองมาตรฐาน((level of certification เป็นหลายระดับด้วยกันตามกลุ่มคะแนน ดังนี้

certifications-levels

(ที่มา: http://sumacinc.com/en/wp-content/uploads/2013/11/certifications-levels.jpg)

โดยปัจจุบันมีอาคารทั่วโลกที่ผ่านการรับรองในเกณฑ์สูงสุดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศแคนาดา จีน เกาหลี อินเดีย เยอรมนี สิงค์โปร์ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย

ตัวอย่างอาคารสีเขียว: อาคาร Adobe towers (สหรัฐอเมริกา)

slide-2

(อาคาร Adobes Towers, ที่มา:http://images.businessweek.com/ss/08/08/0801_arch2030/image/slide-2.jpg)

จุดเด่นของอาคารสีเขียว Adobes Towers คือ การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้น้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงและน้ำจากการผันมาได้ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และ 76 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังสามารถจัดการขยะด้วยวิธีการหมักและรีไซเคิลแทนการทับถมได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

การลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเกิดจากหลายวิธี เช่น การลดใช้ทรัพยากรโดยตรง การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการใช้ทรัพยากร และการปรับเปลี่ยนวิธีการในการจัดการทรัพยากรดังกล่าว เช่น การจัดการทรัพยากรขยะด้วยวิธีการหมักหรือรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นต้น

อาคารสีเขียวในประเทศไทย และอาคาร เอสซีจี 100 ปี

ประเทศไทยเองก็มีอาคารหลายแห่งที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับ Platinum แห่งแรกก็คือ อาคาร Park Venture ซึ่งได้รับรางวันในด้านการ ออกแบบและการก่อสร้างอาคาร ประเภทการจัดการระบบภายในอาคาร (core & shell) ขณะที่อาคารออฟฟิศหลัก 1, 2 และ 5 ของบริษัท เอสซีจี จำกัด ก็ได้รับรางวัลในด้านการบริหารจัดการอาคารเดิม ซึ่งเป็นรายแรกในอาเซียนที่ได้รับรางวัลด้านนี้ ส่วนศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารกสิกรไทยก็เป็นอาคารแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลระดับสูงสุดในด้านการออกแบบและการก่อสร้าง ประเภทอาคารก่อสร้างใหม่

เมื่อไม่นานมานี้ อาคารเอสซีจี  100 ปีก็เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ Platinum จาก LEED ในด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคารประเภท core & shell ซึ่งบริษัทได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเพื่อเปิดตัว “อาคารเอสซีจี อาคารสีเขียวที่เคารพต่อธรรมชาติและนอบน้อมต่อสังคม” ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทป่าสาละเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานด้วย ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับอาคารเอสซีจี 100 ปี มาเผยแพร่ให้ผู้อ่านเห็นภาพของอาคารสีเขียวชัดเจนมากขึ้น

Untitled2

(อาคาร เอสซีจี 100 ปี, ที่มา: http://www.portfolios.net/profiles/blogs/scg-100)

คุณสมบัติเด่นที่ทำให้อาคารเเห่งนี้เป็นอาคารสีเขียวมีอยู่หลายด้าน เริ่มตั้งแต่ด้านการเลือกพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในบริเวณกลุ่มอาคารสํานักงานของบริษัทที่ไม่มีธรรมชาติปกคลุมอยู่ก่อน (brownfield) จึงไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพเเวดล้อมธรรมชาติมากเท่าพื้นที่ที่มีป่าไม้ปกคลุม (Greenfield)

บริเวณรอบๆโครงการมีพื้นที่สีเขียวอยู่มากกว่า 50% แต่ก็มีการรักษาต้นไม้เดิมไว้ ด้วยการถอนต้นไม่ไปดูแลรักษา แล้วนํามาปลูกในบริเวณพื้นที่เดิมหลังสร้างอาคารเสร็จ ขณะที่บางส่วนของดาดฟ้าก็มีการปลูกต้นไม้ (garden rooftop) เพื่อลดอุณหภูมิในบริเวณอาคารด้วย

  • ด้านประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรน้ำ มีการกักเก็บน้ำฝน (rain harvesting) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการดูแลภูมิทัศน์บริเวณอาคาร พร้อมทั้งมีการใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำภายในอาคาร (ก็อกน้ำและ สุขภัณฑ์ เป็นต้น) จึงช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 6 ล้านลิตรต่อปี
  • ด้านการประหยัดพลังงาน อาคารเอสซีจี 100 ปี ใช้เทคโนโลยีกระจกสองชั้นเพื่อช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะเข้าสูบตัวอาคาร รวมถึงมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้า อาทิ ระบบควบคุมแสงไฟ (daylight sensor) ระบบควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ หลอดไฟฟ้า LED และ T5 เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สํานักงานที่ได้รับมาตรฐาน Energy star จากสหรัฐอเมริกา ทําให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าของอาคารได้ถึง 2,300,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ที่สำคัญอาคารเอสซีจี 100 ปียังได้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ขนาด 84 กิโลวัตต์ ซึ่งช่วยผลิตไฟฟ้าได้ถึง 99,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
  • ด้านของวัสดุก่อสร้าง มีการใช้วัตถุดิบหลายชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระเบื้องปูพื้น Cotto Eco Rockrete ที่มีส่วนผสมจากวัสดุรีไซเคิลร้อยละ 60 ส่วนวัสดุที่เป็นไม้ก็ใช้ไม้จากป่าปลูกที่ได้รับการรองรับจาก Forest Steward Council (FSC) ถึงกว่าร้อยละ 50
  • ด้านการเดินทางและการขนส่ง มีการใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้างอาคาร เพื่อลดมลพิษจากการขนส่งวัสดุ นอกจากนี้ยังมีการจัดการประชุมด้วยระบบ Video conference ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดมลพิษที่มาจากการเดินทาง
  • ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายใน มีการติดตั้งระบบกรองฝุ่นและระบบควมคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อัตโนมัติ อากาศบริสุทธิ์จากภายนอกอาคารจึงถ่ายเทเข้ามาในตัวอาคารได้มากขึ้น และเลือกใช้พรมที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี

ถึงเเม้ว่าแนวคิดอาคารสีเขียวจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดัน เพราะภาคธุรกิจยังมองไม่เห็นประโยชน์ทางธุรกิจจากการสร้างอาคารสีเขียว ขณะที่ภาคประชาชนและภาครัฐก็ยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบของอาคารที่มีต่อสภาพแวดล้อมและผู้คนในสังคมในระดับภาพรวม ผู้เขียนจึงหวังว่างานเขียนชิ้นนี้จะช่วยให้ทุกภาคส่วนได้รู้ถึงประโยชน์ของอาคารสีเขียว และสนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้น

(วิดิโอเกี่ยวกับตัวอาคาร เอสซีจี 100 ปี สามารถคลิ๊กดูได้ ที่นี่)

 

________________________________________________________

ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม

http://www.usgbc.org/profile

http://www.youtube.com/watch?v=7EndHvwD-do

http://www.epa.gov/greenbuilding/pubs/gbstats.pdf