human

ดังที่เล่าไว้ในบทความชุด ประเด็นท้าทายการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคต” ว่า IFC ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรทางการเงินของกลุ่มธนาคารโลก ได้สรุป 7 ประเด็นสำคัญในปัจจุบันและอนาคต สำหรับใช้เป็นแนวทางการทำงานอย่างยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงในทศวรรษใหม่ [1. IFC’s Sustainability Framework: From Policy Update to Implementation โดย International Finance Corporation, World Bank Group ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2012 สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.ifc.org/LOE-SustFramework] ซึ่งในบทความชิ้นนี้จะขอพูดถึงประเด็นที่ 2 คือเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กล่าวถึงไปแล้ว

ก่อนอื่นขอถามคำถามทุกท่านง่ายๆ ว่า . . .

คุณคิดว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ? ก) เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรได้รับ ตลอดช่วงชีวิตของเขา ข) เป็นชุดของสิทธิพื้นฐานที่เป็นสมบัติติดตัวของทุกคนมา ในฐานะที่เพียงได้เกิดเป็นมนุษย์ ค) เป็นสิทธิพิเศษที่มอบให้แก่คนจำนวนหนึ่งโดยประมุขของรัฐ ง) เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ดังนั้นสิทธิมนุษยชนของคนเอเชียย่อมแตกต่างจากสิทธิมนุษยชนของชาวยุโรป

ที่จริงแล้วจะเลือกตอบอย่างไรก็ไม่ผิด เพราะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก แต่หากว่ากันด้วยระบบขององค์การสหประชาติที่ผู้แทนนานาชาติยอมรับร่วมกันแล้ว ข้อ ข) จะถือเป็นข้อที่ถูกต้อง คือถือเป็นสิทธิสมบัติติดตัวมาแต่เกิดในฐานะที่เป็นมนุษย์ ไม่ต้องกระทำการซึ่งให้ได้มา (Inherently Entitled) [2. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้บัญญัติไว้ว่า ” Human rights are rights inherent to all human beings, whatever our nationality, place of residence, sex, national or ethnic origin, colour, religion, language, or any other status. We are all equally entitled to our human rights without discrimination. These rights are all interrelated, interdependent and indivisible.”

ที่มา : http://www.ohchr.org/en/issues/pages/whatarehumanrights.aspx] โดยในระบอบกฎหมายนี้จะมี Universal Declaration of Human Rights (UDHR) เป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่วางกรอบเบื้องต้นของแนวคิด [3.  กระทรวงต่างประเทศของไทยได้แปล UDHR อย่างเป็นทางการ สามารถอ่านฉบับเต็มได้ทาง http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf)]

UDHR เกิดขึ้นมาจากที่ในตอนนั้นนานาชาติเจ็บช้ำมาก จากการฆ่าฟันกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จนมีประชาชนและทหารเสียชีวิตมากถึงประมาณ 50-80 ล้านคน จึงได้หันมาร่วมกันหาเครื่องมือและข้อตกลงร่วม เพื่อป้องกันไม่ให้มหาโศกนาฏกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยนาย John Peters Humphrey นักกฎหมายชาวแคนาดาเป็นหัวเรือหลักในการร่าง UDHR ขึ้นมา ซึ่ง Humphrey ได้เขียนกฎหมายฉบับนี้ไว้อย่างไพเราะลึกซึ้ง จนเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

John Peters Humphrey ผู้เขียนกฎหมายหลัก (ขวา) และ Eleanor Roosevelt (ซ้าย) ประธานคณะกรรมการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่มาภาพ : http://www.gnb.ca/cnb/news/wcs/2007e0110wc.htm

 

แต่ในระบบกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ อันเกิดเนื่องมาจากหลักการของ UDHR นั้น ผู้มีหน้าที่ปกป้องและเคารพสิทธิมนุษยชนกลับเป็นรัฐเท่านั้นโดย แต่ละรัฐก็ทำหน้าที่ดูแลให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนระหว่างประชาชนของตัวเองผ่านกฎหมายภายในประเทศแบบรัฐใครรัฐมัน ซึ่งการมองในลักษณะนี้ทำให้เกิดช่องโหว่ทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาที่บรรษัทข้ามชาติต่างๆ มีขนาดและอำนาจใหญ่โตกว่าประเทศเล็กๆ บางประเทศ และประกอบกิจกรรมข้ามระหว่างรัฐ แต่กลับไม่มีเครื่องมือกฎหมายกำกับดูแลกิจกรรมทางธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติอย่างชัดเจน

ช่องว่างของความรับผิดชอบ อำนาจ และกฎหมายนี้แสดงให้เห็นชัดเจนในกรณีข่าวฉาวก้องโลกที่รัฐบาลไนจีเรีย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสัมปทานขุดเจาะน้ำมันของ บริษัท Royal Dutch Shell สั่งประหารแขวนคอนักเคลื่อนไหวท้องถิ่นทั้งหมด 9 คนในปี 1995 โดยหนึ่งในนั้นคือนาย Ken Saro-Wiwa นักข่าวและนักเขียนชื่อดังระดับนานาชาติ ผู้เป็นแนวหน้าสร้างกระแสประท้วงคัดค้านการขุดเจาะของบริษัท Shell ในประเทศไนจีเรีย

 

Campaign รณรงค์สร้างการตระหนักรู้ต่อคดีของ Shell ในประเทศไนจีเรีย ออกแบบโดย Provokateur เอเจนซี่โฆษณาที่เน้นงานด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ที่มา : http://blog.provokateur.com/2009/05/22/ken-saro-wiwa/ Campaign รณรงค์สร้างการตระหนักรู้ต่อคดีของ Shell ในประเทศไนจีเรีย ออกแบบโดย Provokateur เอเจนซี่โฆษณาที่เน้นงานด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
ที่มา : http://blog.provokateur.com/2009/05/22/ken-saro-wiwa/

 

Shell ได้เริ่มขุดเจาะน้ำมันในไนจีเรียตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 เป็นเจ้าของจุดขุดเจาะน้ำมันมากกว่า 90 จุดทั่วประเทศ และสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างมหาศาล เพราะท่อส่งน้ำมันที่วางพาดผ่านหน้าบ้านเรือนและที่ทำกินของชนกลุ่มน้อยต่างๆ เกิดน้ำมันรั่วและไฟลุกระเบิด (Flare) เป็นภัยต่อชีวิตของประชาชนบ่อยครั้ง ทั้งคราบน้ำมันยังปนเปื้อน ทำให้ผืนดินและแหล่งน้ำถูกทำลาย ทำให้ชาวนาและชาวประมงต้องสูญเสียอาชีพ ต้องร่อนเร่ออกจากพื้นที่ ทั้งๆ ที่การขุดเจาะสร้างรายได้ให้รัฐบาลไนจีเรียมากถึง 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เงินกลับเข้ากระเป๋าของเหล่านักการเมืองเผด็จการที่กดขี่ทำร้ายประชาชน

โดยในปี ค.ศ.1996 ชาวไนจีเรียยังคงตายด้วยความอดอยาก โรคระบาด ไม่มีน้ำสะอาดดื่ม ไม่มีไฟฟ้าใช้ คดีแขวนคอนักต่อต้านดังกล่าวจึงทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Amnesty International หรือ Human Rights Watch โจมตีสิ่ง Shell ทำร่วมกับรัฐบาลไนจีเรียอย่างรุนแรง [4. ที่มา : – Frynas J. G. (2009). “Corporate social responsibility in the oil and gas sector”. Journal of World Energy Law & Business. 2 (3): 178-195. Oxford University Press.

– Essential action, Shell in Nigeria: What are the issues?. – http://www.essentialaction.org/shell/issues.html]

_70948662_3fb361eb-02d8-417c-aeaa-1e42c23e8ef4ภาพสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ Niger แหล่งขุดเจาะน้ำมันใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปแอฟริกา ที่ถูกคราบน้ำมันปนเปื้อนทำลายจากการขุดเจาะน้ำมันของบรรษัทข้ามชาติจำนวนมากในบริเวณ ที่มา : http://www.bbc.com/news/world-africa-24839324

เรื่องตลกก็คือ ในเมื่อรัฐบาลเจ้าบ้านอย่างไนจีเรียไม่เอาผิด Shell การจะไปฟ้องที่ประเทศต้นสังกัดก็ไม่ได้ เพราะรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไม่ได้มีหน้าที่จะไปปกป้องดูแลสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศอื่น ส่วนจะไปฟ้องศาลโลก ตัวกฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่ได้ผูกพันเอาผิดกับองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลเอาไว้

ท่านผู้อ่านพอเดาได้ไหมว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มผู้เสียหายต้องไปฟ้องร้องที่ใคร ?

คำตอบคือเป็นศาลนิวยอร์คที่รับพิพากษาคดีนี้ ภายใต้กฎหมาย Alien Tort Claims ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ถูกใช้ในการฟ้องร้องคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากศาลฎีกาสูงสุดพิพากษาด้วยคะแนน 6 ต่อ 3 ในปี 2004 ว่า ชาวต่างชาติสามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลอเมริกาได้ในบางกรณีจำเพาะ เช่น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติและการทรมาน โดยจำเลยที่อาจถูกเรียกมารับผิดชอบต่อคดีนั้นมีได้หลายประเภท ซึ่งรวมถึงบรรษัทข้ามชาติด้วย อย่างเช่น บริษัท Royal Dutch Shell ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ตาม

ในเดือนมิถุนายน ปี 2009 โจทก์ซึ่งเป็นญาติของผู้ถูกแขวนคอได้ยอมความ โดยรับเงินชดเชยค่าเสียหาย 15.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงจำนวนเงินจะไม่มาก แต่คดีนี้ถือเป็นคดีที่สำคัญ   [5. ที่มา: http://revista-amauta.org/2009/06/shell-to-pay-155-million-to-settle-nigerian-case/ ] เพราะแสดงให้เห็นถึงความตลกลักลั่นและช่องโหว่ของระบบกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกับภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าบรรษัทข้ามชาติจะกระทำการโดยไม่เกรงกลัวต่อการเอาผิดทางสิทธิมนุษยชนในต่างแดนได้เสียทีเดียว

ถึงแม้ว่าความพยายามที่จะผลักดันให้การเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ที่เอาผิดธุรกิจได้โดยตรงในระบบของสหประชาชาติต้องล้มไป แต่ในปี 2011 คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รับรองการก่อตั้งมาตรฐานตามความสมัครใจที่ชื่อว่า “UN Guiding Principles on Business and Human Rights”  [6. อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ทาง  http://www.ohchr.org/Documents/Publications/GuidingPrinciplesBusinessHR_EN.pdf] ซึ่งเป็นการแปลความกรอบนโยบาย “Protect Respect and Remedy Framework” ให้เป็นขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ภาคธุรกิจและภาครัฐเอาไปใช้

เนื้อหาสำคัญของเอกสารทั้งสองฉบับประกอบด้วยแนวคิดที่มองเห็นว่า องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อการเคารพ สิทธิมนุษยชน และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องป้องกัน การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบุคคลที่ 3 ซึ่งรวมถึงองค์กรธุรกิจด้วย รวมทั้งควรสนับสนุนให้เหยื่อผู้ถูกละเมิดเข้าถึงช่องทางการเยียวยา ได้ดียิ่งขึ้นทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจริงๆ ก็เป็นการอธิบายอำนาจและหน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศเดิมให้ชัดเจนขึ้น และชี้ระบุความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจที่ต้องร่วมกันดูแลป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้เด่นชัดออกมา

โดยสาระสำคัญที่แท้จริงซึ่งไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มาตรฐานแนวปฏิบัติข้อที่ 7 (หน้า 9) ซึ่งมีคำอธิบายมาตรฐานอย่างเป็นทางการระบุว่า ในยามสถานการณ์ขัดแย้งที่ “รัฐประเทศเจ้าบ้าน” ของการดำเนินธุรกิจนั้น ไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนของตัวเองได้ ในกรณีของบรรษัทข้ามชาติ ให้ “รัฐประเทศต้นทาง” มีบทบาทต้องช่วยองค์กรธุรกิจและประเทศเจ้าบ้านดูแลให้บริษัทจากประเทศตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันก็ให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้ด้วย

ถึงแม้จะเป็นก้าวที่ไม่ได้มั่นคงมากนัก คือไม่ใช่เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติเอาผิดต่อการละเมิดของธุรกิจอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของคณะมนตรีฯ ที่มองเห็นว่า ผู้ที่มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนนั้นหมายรวมถึงภาคธุรกิจด้วย และรัฐเป็นประเทศต้นทางก็ไม่ควรจะเพิกเฉยต่อการกระทำของธุรกิจจากประเทศตัวเองในประเทศอื่น ซึ่งธุรกิจจำนวนมากก็ขานรับมาตรฐานนี้ และนำไปประกาศใช้ในองค์กรตัวเอง เช่นเดียวกับรัฐบาลประเทศต่างๆ

               เรียกว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่มีความสำคัญสู่แนวทางการสร้างหลักประกันด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจต่อไปในอนาคต