ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สังคมธุรกิจไทยได้เข้าสู่ยุคที่แนวคิดสมัยใหม่อย่าง “ธรรมาภิบาล” “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” “ความรับผิดชอบต่อสังคม” “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ฯลฯ ได้เข้าสู่ “ภาษา” ที่บริษัทน้อยใหญ่ต่างใช้กันเป็นประจำจนดูเหมือนเป็นเรื่องประจำวันไปแล้ว

ความท้าทายสำคัญในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า บริษัท “รู้จัก” แนวคิดเหล่านี้หรือไม่ หากแต่อยู่ที่ว่า บริษัท “เข้าใจ” แนวคิดเหล่านี้หรือไม่ เพียงใด

เราจะประเมินขีดความเข้าใจของบริษัทได้อย่างไร? ผู้เขียนเสนอว่า เอกสารนโยบายหรือโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทไม่มีทางบอกได้ชัดเท่ากับ “ปฏิกิริยา” ของบริษัท เวลาที่เกิดปัญหาขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ปฏิกิริยาของบริษัทน้ำมัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่ว บอกอะไรๆ เราได้มากมายว่าบริษัทเข้าใจ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือไม่เพียงใด

เช่นกัน ปฏิกิริยาของบริษัทต่อกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งพัวพันผู้บริหารระดับสูงหรือคู่ค้าสำคัญ ก็บอกอะไรๆ เราได้มากมายว่าบริษัทเข้าใจ “ธรรมาภิบาล” หรือไม่เพียงใด

ผู้เขียนเห็นว่า กรณีทุจริตคอร์รัปชั่นเมื่อไม่นานมานี้ของผู้บริหารระดับสูงและคู่ค้ารายสำคัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สองแห่ง บอกอะไรๆ ได้มากมายถึงระดับความ(ไร้)ธรรมาภิบาล ของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) และ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) (BEC)

และเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นและผู้กำกับดูแลพึงตั้งคำถามให้ถูกจุด

 

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร CPALL ที่มาภาพ: http://news.mthai.com/app/uploads/2015/12/38.jpg

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร CPALL ที่มาภาพ: http://news.mthai.com/app/uploads/2015/12/38.jpg

กรณีแรก ต้นเดือนธันวาคม 2558 คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ (1) นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ (2) นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล (3) นายพิทยา เจียรวิสิฐกุล และ (4) นายอธึก อัศวานันท์ กรณีอาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้นบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) เป็นเงินรวม 33,339,500 บาท โดยปรับนายก่อศักดิ์สูงสุด เป็นเงิน 30,228,000 บาท และเปรียบเทียบปรับ (5) นายสมศักดิ์ เจียรวิสิฐกุล และ (6) นางสาวอารียา อัศวานันท์ ซึ่งให้การช่วยเหลือสนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท

โดย ก.ล.ต. พบว่า “บุคคลตาม (1)-(4) ได้ซื้อหุ้น MAKRO โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น MAKRO ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชน โดยพบการซื้อหุ้นในบัญชีบุคคลดังกล่าว หรือผู้สนับสนุนระหว่างวันที่ 10-22 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) เจรจาตกลงจะซื้อหุ้น MAKRO ที่บริษัท เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ บี.วี. (SHV) ถืออยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม 154,429,500 หุ้น หรือ 64.35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ MAKRO ที่ราคาหุ้นละ 787 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นเหตุให้ CPALL ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้น MAKRO ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นการทั่วไป (Tender Offer) ที่ราคาเดียวกัน”

บุคคลทั้งสี่ล่วงรู้ข้อมูลภายในก่อนประชาชนในฐานะที่เป็นผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัท นับเป็น “บุคคลวงใน” และการใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้นจึงเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 241 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

หลังจากที่กรณีนี้เป็นข่าว ผู้บริหารบริษัทต่างออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า ผู้บริหารและกรรมการที่เกี่ยวข้อง “ไม่ได้มีเจตนากระทำผิด” แถมนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท CPALL ยังอ้างว่า “การเข้าซื้อหุ้น MAKRO ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก่อนที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จะซื้อกิจการของ MAKRO และซื้อด้วยบัญชีที่เปิดเผย เพราะคิดว่าหากซื้อโดยที่ไม่รู้ราคาที่เครือซีพีเข้าไปซื้อ จะไม่ถือเป็นการใช้ข้อมูลภายใน เนื่องจากเครือซีพีเป็นผู้เข้าไปเจรจาซื้อ ไม่ใช่ CPALL”

นี่เป็นการอ้างแบบข้างๆ คูๆ เนื่องจากลำพังการใช้ข้อมูลภายในที่ว่า บริษัทในเครือที่ตนทำงานให้กำลังเจรจาซื้อ MAKRO (ซึ่งจะทำให้หุ้น MAKRO ราคาพุ่งอย่างแน่นอนเมื่อนักลงทุนคนอื่นรู้) ก็มากพอแล้วที่จะเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ เพราะเอาเปรียบนักลงทุนคนอื่นโดยไม่เป็นธรรม ไม่เกี่ยวกับว่าสุดท้าย CPALL จะเป็นผู้ซื้อ MAKRO หรือไม่!

การที่นายก่อศักดิ์และผู้บริหารคนอื่นๆ ที่ถูก ก.ล.ต. เปรียบเทียบปรับ ยังนั่งบริหารกิจการต่อไป สะท้อนภาวะไร้ธรรมาภิบาลอย่างชัดเจน เนื่องจากการใช้ข้อมูลภายในทำกำไรเป็นการทุจริตที่เอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย ขัดแย้งกับ “นโยบายหลักการกำกับดูแลกิจการ” ของ CPALL ซึ่งกำหนดในข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ บางส่วนว่า

1.5 ภาวะผู้นำ และวิสัยทัศน์: “คณะกรรมการบริษัทพึงมีจริยธรรมและปฏิบัติตามบทบาทของภาวะผู้นำที่เหมาะสม และประพฤติตนให้เป็นที่ยอมรับของสังคม ตลอดจนเป็นประโยชน์สำหรับการจัดการบริษัท รวมทั้งมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อบริหารงานของบริษัทให้เป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและเป็นผู้นำทางธุรกิจ อันจะยังประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม”

2.2 ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น “คณะกรรมการบริษัทถือเป็นหน้าที่ในการดูแลให้ผู้บริหารและพนักงานทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความสำนึกในหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อผลของการปฏิบัติ เพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นมีความเชื่อถือและยอมรับในการตัดสินใจว่าการดำเนินการใดๆ กระทำด้วยความเป็นธรรมและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายย่อย”

คำถามคือ เหตุใด CPALL จึงไม่ปฏิบัติตามนโยบายหลักการกำกับดูแลกิจการ หรือ corporate governance ของตนเอง?

ในส่วนของผู้กำกับดูแล คือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้เขียนคิดว่ากรณีนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสดีให้ ก.ล.ต. แสดงตัวเป็น “เจ้าภาพ” เชิญชวนบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ รวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม มาร่วมกันเขียน “นโยบายออกเสียงแทน” หรือ proxy voting policy เพื่อความชัดเจนว่าจะดำเนินการแทนผู้ถือหุ้นอย่างไรในกรณีแบบนี้ แทนที่จะปล่อยให้ บลจ. หรือนักลงทุนบางรายไปเทขายหุ้นบริษัทเฉยๆ กลายเป็นกลยุทธ์การตลาดชั่วครั้งชั่วคราว ไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ก.ล.ต. เองก็ควรปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาคดีใช้ข้อมูลภายใน และคดีสร้างราคาหุ้น (“ปั่นหุ้น”) ให้เป็นระบบและเปิดเผยเกณฑ์ต่อสาธารณะ เพิ่มความโปร่งใสมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาคดีใช้ข้อมูลภายในบางคดี ถูกส่งเรื่องต่อให้กับตำรวจไปดำเนินคดีอาญา แทนที่จะเปรียบเทียบปรับเท่านั้น

ความโปร่งใสที่มากขึ้นของการบังคับใช้กฎเกณฑ์ จะช่วยขจัดข้อกังขาว่า ฐานความผิดเดียวกัน เหตุใดบางคดีจึงปรับ บางคดีส่งดำเนินคดีอาญา

ก.ล.ต. “เกรงใจ” ผู้ต้องหาบางรายที่มีตำแหน่งสูงๆ หรือไม่

 

ส่วนกรณีของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรช่องสามชื่อดัง ศาลอาญาก็ได้มีคำพิพากษาอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ในคดีที่อัยการสูงสุดได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด จำเลยที่ 1, บริษัท ไร่ส้ม ที่ 2, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่ 3, น.ส.มณฑา ธีระเดช ที่ 4 เรื่องความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ  พ.ศ. 2502 นั้น

ศาลเห็นว่า “…สัญญาได้กำหนดส่วนแบ่งค่าโฆษณาเป็นค่าตอบแทนในการผลิตรายการแก่จำเลยที่ 2 อย่างตายตัว …จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ในการจัดทำใบคิวโฆษณา รายงานการโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 2 แก่ผู้บังคับบัญชาทราบ ระหว่างเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ไม่ได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 2 ให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงานทราบ โดยจำเลยที่ 1 อาศัยช่องโหว่การปล่อยปละละเลย ไม่สอบทานใบคิวโฆษณารวมของหน่วยงานผู้เสียหาย …ต่อมากรกฎาคม 2549 จำเลยที่ 1 ได้ใช้น้ำยาลบคำผิด ลบรายการโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 2  ประมาณครึ่งหนึ่งของรายการที่เกินเวลาทั้งหมด …พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การผู้เสียหายโดยทุจริต เอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 การรับเงินตามเช็ค 6 ฉบับ ตามฟ้อง เป็นการกระทำโดยมิชอบ”

พูดง่ายๆ คือ ศาลตัดสินว่าสรยุทธกระทำผิดฐานติดสินบน (จ่ายเช็ค 6 ฉบับ) ให้เจ้าหน้าที่ อสมท. ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริษัทตนไม่ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลา

แม้จะคืนค่าโฆษณาส่วนเกิน 138.7 ล้านบาทให้กับ อสมท. แล้ว ก็ยังถือว่า “ผิด” อยู่ดี

 

สรยุทธ สุทัศนะจินดา ประธานกรรมการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มาภาพ: http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2016/02/29/f5b6gd8id66aaec5iadga.jpg

สรยุทธ สุทัศนะจินดา ประธานกรรมการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มาภาพ: http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2016/02/29/f5b6gd8id66aaec5iadga.jpg

 

ต่อกรณีนี้ ช่อง 3 หรือต้นสังกัดปัจจุบัน “มีมติให้นายสรยุทธทำหน้าที่ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากกรณีนี้ได้เกิดขึ้นก่อนนายสรยุทธมาร่วมงานกับสถานี คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด และเราเป็นครอบครัวเดียวกัน”

หลังจากที่เกิดกระแสกดดันขนานใหญ่จากสังคม สรยุทธก็ประกาศ “พักหน้าจอ” โดยไม่มีกำหนด เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อช่อง 3

นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น” (Anti-corruption Policy) ของ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) (BEC) ผู้ดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ดังประกาศต่อสาธารณะในรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม ระบุอย่างชัดเจนว่า

“กลุ่มบีอีซี เวิลด์ แสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และสร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่โปร่งใส เพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติภายในองค์กร กลุ่มบีอีซี เวิลด์ มีนโยบายกำหนดความรับผิดชอบ แนวทางการปฏิบัติ และข้อกำหนด ในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของกลุ่มบีอีซี เวิลด์”

โดยบริษัทนิยาม “คอร์รัปชั่น” ว่า หมายถึง “การติดสินบนไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ การใช้ตำแหน่ง หน้าที่ และ/หรือการใช้ข้อมูลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่การงาน ไปกระทำการใดๆ ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้ได้มาหรือรักษาซึ่งทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด..โดยมิชอบแก่ตนเองทั้งทางตรงทั้งทางอ้อม ตลอดจนการกระทำใดๆ ที่ขัดหรือแย้งกับจรรยาบรรณขององค์กร …นอกจากนี้ ยังรวมถึงการทุจริตในหน้าที่ ทั้งการฝ่าฝืนกฎหมาย ผิดศีลธรรม หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางจริยธรรม”

นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นของ BEC ระบุต่อไปอีกว่า “กรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่/พนักงานของกลุ่มบีอีซี เวิลด์ ไม่พึงสนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยครอบคลุมการนำเสนอ การจ่ายเงิน การเรียกร้อง การตอบรับ หรือการอนุญาต ซึ่งสิ่งของที่มีมูลค่าใดๆ ที่แสดงเจตนาในการรับใดๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม”

นับว่า BEC กำหนดนโยบายไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่เมื่อคู่ค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจรายสำคัญของ BEC ถูกศาลตัดสินว่าทุจริตคอร์รัปชั่น ขัดแย้งกับนโยบายโดยตรง บริษัทกลับประกาศ “อุ้ม”

เช่นนี้ผู้ถือหุ้นและสังคมโดยรวมจะคาดหวังได้อย่างไรว่า BEC จะมีธรรมาภิบาลที่ดีในเรื่องอื่นๆ ด้วย?

ผู้เขียนเห็นว่า ทั้งสองกรณีนี้เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ว่า ก่อนที่ธุรกิจไทยจะก้าวไปครุ่นคิดเรื่อง “ล้ำๆ” อย่าง “คุณค่าร่วม” หรือ “ความยั่งยืน”

ทำเรื่องพื้นฐานอย่าง “ธรรมาภิบาลธุรกิจ” ให้เป็น “รูปธรรม” เสียก่อนน่าจะดี.