สภาพของเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้การดำเนินการของภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนสูงขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การไหลเข้าของแรงงานข้ามชาติทำให้เกิดการใช้แรงงานที่ไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล การดำเนินธุรกิจโดยขาดการคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนจากการเปิดเสรีทางการค้าที่มีมากขึ้น เป็นต้น ดังจะเห็นจากที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ระยะที่ 1 พ.ศ. 2562-2565 โดยมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ โดย NAP คาดหวังให้บริษัทเอกชนดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ตามแนวทางที่เสนอโดยหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs) นอกจากนี้ คาดว่าเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลใหม่ (One Report) ของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนทุกขนาดมีความตื่นตัวต่อการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทไทยจำนวนมากยังประสบความท้าทายในการดำเนินการ HRDD และบูรณาการผลการค้นพบเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ ผลการศึกษาของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เรื่อง Mapping Private Sector Engagement in Human Rights ในปี ค.ศ. 2019 พบว่า มีบริษัทไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียง 12%  เท่านั้นที่ดำเนินการ HRDD และมีเพียง 2.2% ที่ประกาศรับหลักการชี้แนะ UNGPs  ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักเป็นบริษัทขนาดใหญ่

ในเดือนกรกฎาคม 2565 บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้รับการว่าจ้างจาก UNDP ประเทศไทย เพื่อสำรวจความพร้อมของบริษัทไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่และ SMEs ในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน โดยข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้ คณะวิจัยจะนำไปใช้ประกอบการประเมินความพร้อมของบริษัทไทยในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการเตรียมความพร้อมให้บริษัทไทยสามารถดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านได้อย่างกว้างขวางและยั่งยืน

ระยะเวลาวิจัย: กรกฎาคม 2565 – เมษายน 2566